07.05.2561 ปะโอ หรือ ตองสู ฉบับย่อ by วัดนันตาราม เชียงคำ พะเยา

07.05.2561 ปะโอ หรือ ตองสู ฉบับย่อ  by วัดนันตาราม เชียงคำ พะเยา

ปะโอ หรือ ตองสู ฉบับย่อ

กลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ (PA-O) ตามตำนานชาวปะโออพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย และมาตั้งถิ่นฐานเมื่อนานมาแล้วในบริเวณท่าตอน เมืองทางทิศตะวันออกของย่างกุ้ง ก่อนที่ชาวปะโอจะพัฒนาภาษาเขียนขึ้นมา เมื่อครั้งกษัตริย์มะนุหะของชาวปะโอแพ้สงครามให้กับกษัตริย์อโนรธาแห่งนครบะกัน(พุกาม)ของพม่าเมื่อศตวรรษที่ 11 เป็นเหตุให้ต้อง สูญเสียเมืองตะโถ่งหรือเมืองสุวรรณภูมิไปและต้องอพยพมาอยู่ในรัฐฉาน ทำให้ชาวปะโอเศร้าโศกเสียใจจึงพร้อมใจกันแต่งชุดสีดำและสีน้ำเงินเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวปะโอที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับมีชุดแต่งกายหลากหลายสีสันแตกต่างจากที่อื่นๆชาวพม่าเรียกชาวปะโอว่าต่องตู (Taungthu) ส่วนชาวไทใหญ่เรียกว่า ต่องซู (Taungsu)
หรือตองซู (Tongsu) มีความหมายว่า “คนทางใต้” ซึ่งกล่าวถึงชาวปะโอที่อาศัยอยู่ที่เมืองท่าตอนทาง
ตอนใต้ของประเทศพม่า มีความหมายเช่นเดียวกันกับ “คนดอย” นอกจากนี้ชาวปะโอ ยังถูกเรียกใน
เชิงดูถูกว่าเป็นพวก “ชาวไร่ ชาวนา” ในขณะที่ชาวปะโอกลับเรียกตัวเองว่า “ปะโอ”

ชาวปะโอในเมืองท่าตอนทางตอนล่างของประเทศพม่า เรียกคนปะโอที่อาศัยอยู่บนที่ราบ
สูงของรัฐฉานว่า ปะโอพื้นที่สูง (Highland Pa-O) ในทางกลับกัน คนปะโอในรัฐฉานตอนใต้ เรียกคนปะโอที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองท่าตอนทางตอนล่างของประเทศพม่าว่า ปะโอที่ราบต่ำ (Lowland
Pa-O) 

ด้านภาษา ปะโอเป็นเพียงชนกลุ่มเดียวที่มีการพัฒนาภาษาเขียนขึ้นโดย Scott James Jorge กล่าวไว้ว่า “ชาวต่องตู มีภาษาเขียนเป็นที่แน่ชัด แต่ผู้ที่สามารถอ่านได้นั้นน้อยยิ่งนัก แม้กระทั่งตอนนี้ไม่มีใครใช้ภาษานี้แล้วในรัฐฉาน” (James, Scott Jorge, and The Pa-O
of Burma: 5)

Hackett (William Dunn,1953 ) ผู้ซึ่งเคยอาศัยอยู่ท่ามกลางชาวปะโอ ทางตอนใต้ของเมืองตองจี ระบุไว้ใน “The Pa-O people of Shan State, Union of Myanmar” โดยเห็นว่าใน 2 หรือ 3ของสิ่งที่เก่าที่สุด (วัดวาอารม) ทั้งภายในและใกล้กับเมืองสะทุง (Hsa Htung) ...จดหมายเหตุภาษาเขียน...ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าอยู่ในสมัยโบราณ ซึ่งข้อเท็จจริง 2 ประการที่ทำให้เขาเชื่อว่าภาษาเขียนปะโอมีอายุเป็นร้อยๆ ปี บางแหล่งเชื่อว่า เดิมทีชนเผ่าปะโออาศัยอยู่ที่ประเทศทิเบต ต่อมาอพยพลงมาตามแม่น้ำโขง มาอาศัยอยู่ในประเทศพม่า บริเวณรัฐฉาน รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง และกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศพม่า มีประชากรโดยรวมกว่า 5,000,000 คน

สำหรับคนในประเทศไทยแล้วมักจะรู้จักกันในนามชนเผ่าตองสู่ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับในประเทศพม่าแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอเป็นที่รู้จักแพร่หลายว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จำนวนมากรองเป็นอันดับสองจากลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในพม่าและอาศัยในแถมทะเลสาบอินเลและกระจายตัวอาศัยตามพื้นที่สูงในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า ข้อมูลที่ปรากฏเอกสารหรือการศึกษาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชาวปะโอมีน้อยมาก

ประเทศพม่าประกอบไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มสำคัญต่างๆ กว่า
135 กลุ่มชาติพันธุ์ ในจำนวนนั้นมีชาติพันธุ์ปะโอ (PA-O) เป็นหนึ่งในกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อย มี
วัฒนธรรม การแต่งกาย สำเนียงภาษา ที่มีลักษณะเฉพาะของชนเผ่า อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่เรียก
ชาวปะโอว่า ต่องตู ตองซู ตองสู้ อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์จัดให้ปะโออยู่ในกลุ่มย่อยของเผ่า
กะเหรี่ยง (Karen) และอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ซึ่งประกอบด้วย มี 11 กลุ่ม คือ ก๋อง
กะเหรี่ยง(กะเหรี่ยงสะกอ กะเหรี่ยงโปว์ กะยา บเว ปะโอ ปะดอง กะยอ) จิงพ่อ (คะฉิ่น) จีน (กลุ่ม
ต่าง ๆ ในเขตเมือง) จีนฮ่อ บิซู พม่า ลีซู (ลีซอ) ละหู่ (มูเซอ) อะข่า(อีก้อ) และ อึมปี (เมปี ก้อ ปะกอ)
ต่องสู้ ต่องสู่ หรือ ต่องซู่ เป็น กลุ่มชนที่อยู่กระจัดกระจายในตอนเหนือของประเทศพม่า เนื่องจากชาวต่องสู้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวต่องสู้อยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่อยู่บริเวณที่ราบ ดังนั้นชาวต่องสู้จึงมีความสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่ และมีวัฒนธรรมคล้ายไทใหญ่ ชาวไทใหญ่เรียกชาวต่องสู้ว่า “ ต่องสู้ ” พม่าเรียกว่า “ ต่องตู่ ” แปลว่า “ ชาวดอย ” หรือ “ คนหลอย ” แต่ชาวต่องสู้ไม่ชอบให้เรียกคำนี้ เพราะถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ ชาวต่องสู้เรียกเชื้อชาติของตนเองว่า “ ป่ะโอ่ ” หรือ ปะโอ แปลว่าชาวดอยเหมือนกัน

เมื่อแยกคำแล้ว มีผู้สันนิษฐานที่มาของคำว่า “ ป่ะโอ ” ว่าน่าจะมาจากคำว่า “ ผะโอ่ ” แปลว่าผู้อยู่ป่า เพราะในภาษาไทยคำตี่ คำว่า “ อู่ ” แปลว่าอยู่ เมื่อชาวต่องสู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนล้านนา คนล้านนาเรียกตามชาวไทใหญ่ แต่สำเนียงเปลี่ยนไปว่า “ต่องสู้ ”

จากหนังสือ คนไทยในพม่า ที่ เขียนโดยบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนชาวล้านนา กล่าวถึงชาวต่องสู้ที่อยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ซึ่งมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบว่า ชาว ต่องสู้อยู่ในเขตเมืองต่องกี ตะถุ่ง ยองเสว่ ย่องเหว ( ยองห้วย ) อ่องบาน สี่กีบ เมืองจิต เมืองหนอง น่ำคก โหปง จ๋ามะก๋ากะลอ ลายค่า ( ไล้ข้า ) เมืองนาย สีแสง หนองบ๋อน เมืองกิ๋ง ใกล้เคียงหนองอ่างเล หรือทะเลสาบอินทะ แต่พบชาวต่องสู้มากที่สุดที่เมืองหลอยโหลง เมืองหมอกใหม่ เมืองต่องกี เมืองตะถุ่ง ป๋างลอง หม่อระแหม่ง ( มะละแหม่ง ) และเมืองเปกูหรือหงสาวดี

มีนิทานเล่าเรื่องของชาว ต่องสู้ว่า เดิมเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับชาวกะเหรี่ยง เมื่อได้สิ่งของก็แบ่งปันกัน อยู่ต่อมาชาวกะเหรี่ยงเข้าป่าล่าสัตว์จับได้เม่น จึงแบ่งเนื้อนำมาฝาก ชาวต่องสู้ไม่พอใจที่เนื้อเม่นน้อย เพราะคิดว่าขนเม่นหนามีขนาดใหญ่ ตัวคงโตมาก ชาวกะเหรี่ยงคงยักยอกแบ่งให้ตนนิดเดียว จึงโกรธทะเลาะกัน กะเหรี่ยงจึงเรียกต่องสู้ว่า ไม่กินเนื้อเม่น

ชาวต่องสู้เชื่อว่า เดิมมีอาณาจักรปะโอที่เป็นปึกแผ่นอยู่ที่เมืองสะถุ่นหรือสะเทิม มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมารุกรานทำสงครามตีเมืองสะถุ่งแตก กวาดต้อนเอาผู้คนชาวปะโอไปสร้างเจดีย์ที่เมืองพะโค ( หงสาวดี ) กลุ่มชนส่วนหนึ่งได้แตกหนีกระจัดกระจายไปอาศัยตามป่าเขาเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน

-สภาพปัจจุบัน ชาวต่องสู้มีความสัมพันธ์ติดต่อกับชาวไทใหญ่ จึงมีวัฒนธรรมหลายอย่างเหมือนชาวไทใหญ่ การแต่งกายของชาวต่องสู้นุ่งห่มด้วยฝ้าฝ้ายทอมือ เป็นผ้าฝ้ายสีดำย้อมด้วยมะเกลือ มีวิธีการทอผ้าเหมือนชาวกะเหรี่ยง กล่าวคือผู้หญิงนั่งเหยียดเท้าทอผ้าด้วยลำตัวผูกกับเอว โดยไม่ใช้กี่ ผู้ชายแต่งกายคล้ายชาวไทใหญ่ สวมกางเกงเป้าหย่อนที่เรียกว่า เตี่ยวโหย่ง หรือโก๋นโฮง เสื้อคอกลมแขนกระบอก ผ่าอกตลอด กระดุมผ้าสอดเป็นห่วงแบบจีน ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงสีดำยาว สวมเสื้อคอวีแขนสั้น ชายเสื้อคลุมตะโพก คล้ายเสื้อกะเหรี่ยง เสื้อชั้นนอกสวมทับ แขนยาว เอวลอย ผ่าอกตลอด คอจีน มีลายแดงยาวพาดขวางเป็นระยะ พันหน้าแข้งเหมือนผู้หญิงชาวมูเซอ เครื่องประดับสวมกำไล สร้อยคอ ด้วยโลหะเงิน การโพกหัวของชาวต่องสู้แตกต่างจากกลุ่มชนต่างๆ ในพม่า ไม่เหมือนทั้งชาวพม่า มอญและไทใหญ่

-การอพยพของชาวต่องสู้ เข้าสู่ล้านนาเริ่มขึ้นใน พ . ศ . ๒๔๒๘ หลังจากอังกฤษเข้ามายึดครองพม่า ความวุ่นวายและความอ่อนแอในราชสำนักพระเจ้าสีป๊อยุติลง ประกาศให้พม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดียนั้น ในหัวเมืองต่างๆ เกิดความวุ่นวาย จลาจล เกิดการแตกแยก รบพุ่งทำสงคราม ซึ่งกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทำการต่อต้านอังกฤษ ทำให้ชาวไทใหญ่ ชาวต่องสู้ ตามเมืองต่างๆ ที่ถูกปราบปราม และที่ได้นับความเดือดร้อนจากสงคราม ได้อพยพเข้ามาในเมืองต่างๆ ของดินแดนล้านนา จัดว่าเป็นรุ่นที่ ๑ ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ . ศ . ๒๔๑๑ และการทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ ๒ มีผลให้บริษัทชาวอังกฤษในพม่า เช่น บริษัทบริติชบอร์เนียว บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า เข้ามาทำกิจการสัมปทานป่าไม้เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน มีชาวพม่า ไทใหญ่ ต่องสู้ เดินทางเข้ามาทำงานด้วย และกลุ่มชนเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้รับไม้รายย่อยส่งให้บริษัทใหญ่ในพม่าและ กลุ่มชาวพม่า ชาวไทใหญ่และชาวต่องสู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ได้สร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามใกล้เคียงกับสถานที่อาศัยของพวกตน ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ได้แก่ จองหม่องพิส ได้บูรณะเจดีย์ วิหารพระเจ้าองค์หลวง วัดมหาวัน จองจิ่งนะ บูรณะกฏิวัดหนองคำ หลวงโยนการพิจิตร ( ปันโหย่ อุปโยคิน ) สร้างวัดอุปคุตม่าน ( ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งและสร้างพุทธสถานขึ้นมาแทน ) ประกอบกับมีชาวต่องสู้ที่เข้ามาแสวงโชคได้รับคำชักชวนและคำบอกเล่าถึงความ อุดมสมบูรณ์ความสงบสุขในล้านนา จึงเดินางเข้ามาติดต่อค้าขายสินค้าวัวต่างๆ และส่วนหนึ่งได้แต่งงานกับผู้หญิงล้านนา ชาวต่องสู้ได้มาตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงชาวไทใหญ่และชาวพม่า อย่างสงบสุข พบหลักฐานจากคำบอกเล่าว่าชาวต่องสู้ ชาวพม่า ชาวไทใหญ่ ตั้งร้านค้าเป็นแบบ “ เรือนแพ ” หรือเรือนแถว ขายของอยู่ย่านท่าแพ อุปคุต ใกล้ศาลต่างประเทศ ตลาดวโรรส ( กาดหลวง ) ย่านช้างม่อย ที่มีอาชีพเดินทางค้าขาย ก็ตั้งบ้านเรือนในตรอกซอกซอยแถววัดมหาวัน วัดบูรพาราม วัดเชตวัน วัดหนองคำ นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวต่องสู้ตั้งบ้านเรือนในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ มีลูกหลานสืบเชื้อสายกลายเป็นคนเมืองไปหมด เช่น แถวหน้าตลาดเก่า อำเภอหางดง บ้านแม่ก๊ะ อำเภอสันป่าตอง บ้านข่วงเปา อำเภอแม่ริม อำเภอแม่อาย บ้านเวียง อำเภอฝางและบ้านบ่อหิน อำเภอพร้าว

-เส้นทางที่ชาวต่องสู้เดินทางเข้ามา ๔ ทาง ได้แก่

๑ . เส้นทางแม่ฮ่องสอน มาทางบ้านผาปูน ผ่านเมืองปาย เมืองยวม ส่วนใหญ่เป็นชาวต่องสู้ที่เดินทางมาจากเมืองหมอกใหม่ เมืองป๋อน เมืองหนองบอน
๒ . เส้นทางฝาง มาจากเมืองปั่น เมืองนาย
๓ . เส้นทางแม่สาย เป็นชาวต่องสู้ที่มาจากเมืองต่องกี เมืองหนอง
๔ . เส้นทางแม่สอด เป็นชาวต่องสู้มาจากเมืองตะถุ่ง เมืองมะละแหม่ง

เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ความคิดเห็น